6.02.2010

case study with autism no.2


มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การวาดรูป

ถึงแม้ว่านักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวจะไม่ได้ถูกฝึกหัดมาอย่างตรงสายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงงานศิลปะ แต่การวาดภาพก็ส่งผลให้ผู้เข้าบำบัดเกิดการเคลื่อนไหว มือที่จับดินสอ น้ำหนักที่กดลากลายเส้น ก็ทำให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างได้

มากไปกว่านั้น ผู้เข้าบำบัดยังรู้สึกมั่นใจขึ้นที่มีกิจกรรมชัดเจนพร้อมอุปกรณ์เป็นตัวเลือกให้แสดงออก มีหลายครั้งที่ผู้คนมักเก้อเขิน ไม่มั่นใจ ไม่รู้จะทำอะไร อย่างไร เวลาที่ถูกกระตุ้นให้เต้นไปตามใจพร้อมกับเพลง ดังนั้นเมื่อมีตัวเลือกอย่างอื่นไว้คอยเป็นตัวช่วยในกรณีที่ผู้เข้ารับการบำบัดอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้อหรือไม่อยากต่อการเคลื่อนไหว

อย่างในกรณีนี้ ผู้เข้าบำบัดเป็นเด็กชายเชื้อสายแอฟริกันที่เติบโตมาในครอบครัวไนจีเรียนในประเทศอังกฤษ หลังจากเบรคปิดเทอม เรากลับมาพบกันเพื่อทำบำบัด เขาดูเศร้าสร้อย แววตาโหยหา และมักมองออกไปนอกหน้าต่างด้วยท่าทางเหม่อลอย

เพียงเท่านี้เราก็พอทราบได้ว่าสิ่งที่วิ่งแล่นอยู่ในใจและในหัวของเขาคงเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในห้องตรงหน้าของเขา แต่เป็นสิ่งไหนสักสิ่งที่อยู่ข้างนอกห้อง เสียงของฉันไม่มีความหมายอะไรเมื่อฉันไม่ได้ชวนเขาพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดถึง และเนื่องจากเขาพูดไม่ได้ ฉันจึงไม่อยากเดาสุ่มสี่สุ่มห้า ฉันจึงชวนเขามานั่นตรงหน้าสมุดกับดินสอสีและชวนวาดรูป และเขาก็สื่อสารด้วยรูปบ้านกระท่อม พร้อมกับรูปหน้าของเด็กผู้ชายซึ่งดูคล้ายกับใบหน้าของเขาเอง แล้วเขาก็วาดเส้นโยงจากสิ่งสองสิ่งนั้นถึงกัน

และนั่นฉันจึงรู้สึกว่า เขาได้แชร์กับฉันแล้วว่าเมื่อตอนเบรคที่ผ่านมาเขารู้สึกอย่างไร และตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องของรายละเอียดมากมาย แต่ท่านั่งที่ขดงอไร้ชีวิตชีวา ดวงตาที่ไร้โฟกัส ประกอบกับภาพกระท่อมซึ่งฉันเดาเองว่าเป็นกระท่อมในประเทศในจีเรีย และใบหน้าของเขานั้น ถือเป็นการสื่อสารที่ฉันได้รับรู้ และเขาก็รู้สึกสบายใจที่จะวาดถึงมันอีกครั้งแล้วครั้งเล่าในsessionsต่อๆมา และนั่น คือที่มาของ theme ที่เราทำงานร่วมกัน