6.02.2010

case study with autism no.2


มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การวาดรูป

ถึงแม้ว่านักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวจะไม่ได้ถูกฝึกหัดมาอย่างตรงสายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงงานศิลปะ แต่การวาดภาพก็ส่งผลให้ผู้เข้าบำบัดเกิดการเคลื่อนไหว มือที่จับดินสอ น้ำหนักที่กดลากลายเส้น ก็ทำให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างได้

มากไปกว่านั้น ผู้เข้าบำบัดยังรู้สึกมั่นใจขึ้นที่มีกิจกรรมชัดเจนพร้อมอุปกรณ์เป็นตัวเลือกให้แสดงออก มีหลายครั้งที่ผู้คนมักเก้อเขิน ไม่มั่นใจ ไม่รู้จะทำอะไร อย่างไร เวลาที่ถูกกระตุ้นให้เต้นไปตามใจพร้อมกับเพลง ดังนั้นเมื่อมีตัวเลือกอย่างอื่นไว้คอยเป็นตัวช่วยในกรณีที่ผู้เข้ารับการบำบัดอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้อหรือไม่อยากต่อการเคลื่อนไหว

อย่างในกรณีนี้ ผู้เข้าบำบัดเป็นเด็กชายเชื้อสายแอฟริกันที่เติบโตมาในครอบครัวไนจีเรียนในประเทศอังกฤษ หลังจากเบรคปิดเทอม เรากลับมาพบกันเพื่อทำบำบัด เขาดูเศร้าสร้อย แววตาโหยหา และมักมองออกไปนอกหน้าต่างด้วยท่าทางเหม่อลอย

เพียงเท่านี้เราก็พอทราบได้ว่าสิ่งที่วิ่งแล่นอยู่ในใจและในหัวของเขาคงเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในห้องตรงหน้าของเขา แต่เป็นสิ่งไหนสักสิ่งที่อยู่ข้างนอกห้อง เสียงของฉันไม่มีความหมายอะไรเมื่อฉันไม่ได้ชวนเขาพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดถึง และเนื่องจากเขาพูดไม่ได้ ฉันจึงไม่อยากเดาสุ่มสี่สุ่มห้า ฉันจึงชวนเขามานั่นตรงหน้าสมุดกับดินสอสีและชวนวาดรูป และเขาก็สื่อสารด้วยรูปบ้านกระท่อม พร้อมกับรูปหน้าของเด็กผู้ชายซึ่งดูคล้ายกับใบหน้าของเขาเอง แล้วเขาก็วาดเส้นโยงจากสิ่งสองสิ่งนั้นถึงกัน

และนั่นฉันจึงรู้สึกว่า เขาได้แชร์กับฉันแล้วว่าเมื่อตอนเบรคที่ผ่านมาเขารู้สึกอย่างไร และตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องของรายละเอียดมากมาย แต่ท่านั่งที่ขดงอไร้ชีวิตชีวา ดวงตาที่ไร้โฟกัส ประกอบกับภาพกระท่อมซึ่งฉันเดาเองว่าเป็นกระท่อมในประเทศในจีเรีย และใบหน้าของเขานั้น ถือเป็นการสื่อสารที่ฉันได้รับรู้ และเขาก็รู้สึกสบายใจที่จะวาดถึงมันอีกครั้งแล้วครั้งเล่าในsessionsต่อๆมา และนั่น คือที่มาของ theme ที่เราทำงานร่วมกัน

5.23.2010

case study with autism no.1


ผู้เข้าร่วมการบำบัดแบบเดี่ยว
เด็กชายเชื้อสายอัฟริกันผู้อาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษา อายุสิบสามปี มีอาการของออทิสติก

ห้องบำบัด - ห้องใต้หลังคาของอาคารแบบอังกฤษ พื้นปูพรม ผนังห้องสึดำเพราะเป็นห้องที่ใช้ในชั่วโมงละครด้วย แต่ว่ามีหน้าต่างบานใหญ่มากบนผนังด้านหนึ่งให้แสงธรรมชาติที่เพียงพอ ในห้องมีอุปกรณ์การละครที่สามารถหยิบยืมมาใช้ได้และมีผ้าห่มผืนหนาใหญ่ไว้ให้เล่น

กระบวนการ
สามสัปดาห์แรกดาวใช้เวลานั่งข้างผ้าห่มผืนหนาหนักที่ผู้เข้ารับการบำบัดเอาแต่มุดอยู่ข้างใต้เพราะความแปลกหน้า ไม่ไว้ใจ กลัว สงสัย กังวล และต่างๆนานา วัตถุประสงค์ในการมาเจอกันของเราทั้งสองถูกเน้นย้ำและอธิบายผ่านผ้าห่ม ชื่อ วิชาชีพ และเจตนาของเราถูกส่งผ่านทางเสียงที่อ่อนโยน ตลอดชั่วโมงของการบำบัด เสียงและภาษาพูดทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถของมัน แต่สิ่งที่ทำให้คนไข้อายุสิบสามปีคนนี้เริ่มเผยใบหน้าและความสนใจมาบ้าง ก็คือการไม่เคยไปไหน

ถึงแม้ว่าเขาจะสื่อสารอย่างชัดเจนว่าต้องการจะปกป้องตัวเองจากสิ่งที่ไม่ไว้ใจด้วยการคลุมผ้ายาวนานเท่าไหร่ แต่การเคารพในสิ่งที่เขารู้สึกด้วยการไม่ดึงดันขึงขันให้เขาออกมาจากผ้าเพื่อมาร่วมกระบวนการนั้นกลับก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจว่าเรานั้นมาที่นี่ 'เพื่อเขา' จริงๆ และการกระทำที่ได้เกิดขึ้น นักบำบัดที่นั่งคุยผ่านกองผ้า ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไปเรียบร้อยแล้ว

และแล้ววันหนึ่ง เขาก็เริ่มยื่นมือมาหา.... เมื่อเขาพร้อม

และเมื่อนั้นเราเริ่มมีเพลงมาในกระบวนการ และผ้าห่มก็เป็นเพียงแค่ที่รองนั่งของเราสองคนเพื่อที่จะเตรียมตัวก่อนเริ่มเต้น

'รูทีน'หรือ 'กิจวัตรประจำ' คือสิ่งที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่มีอาการของออทิสติกนั้นยิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจึงเริ่มชั่วโมงบำบัดด้วยการมาที่ผ้าห่มแล้วก็ไปที่หน้าวิทยุที่มีแผ่นซีดีเพลงที่เตรียมไว้ คนไข้คนนี้ก็มักจะยืนเต้นหน้าวิทยุอย่างเต็มแรง ใช้การเคลื่อนไหวที่เร็ว ถี่ ทำซ้ำ หนักหน่วง จนบางครั้งจะเห็นว่ามีอาการอ่อนล้าแต่ว่าไม่สามารถจะหยุดหรือไปทำอย่างอื่นได้ เราจึงเริ่มที่จะเสนอตัวให้เขามาเคลื่อนไหวกับเรามากกว่าที่จะเต้นอยู่กับหน้าปัดดิจิติลของวิทยุ แต่เมื่อนั้น..เมื่อที่เขามามีปฏิสัมพันธ์กับเราในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง สายตาที่จ้องล็อคมาที่ตาเรา วิธีการเคลื่อนไหวที่ความสนใจมาอยู่ที่เราทั้งหมด ทำให้เราในฐานะนักบำบัดรู้สึกว่าเขาเอาใจและตัวเขามาที่การเคลื่อนไหวของเรา และการเดินเข้ามาใกล้เรามากเกินไปทำให้เกิดปัญหาใหม่..

การรู้ระยะขอบเขตว่าพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองคือที่ไหน และพื้นที่ของผู้อื่นอยู่ตรงไหนคือสิ่งที่เด็กที่มีอาการออทิสติกมักไม่เคยได้ทำความรู้จัก ขอบเขตของตนเอง(boundary)สิ้นสุดที่ตรงไหน อะไรเรียกว่าเรา อะไรเรียกว่าเขา นั้นเป็นไอเดียที่ยังไม่รับการลงทะเบียนไปในชีวิต สำหรับคนไข้คนนี้ เรามีThemeในการทำงานร่วมกันในทันทีนั่นก็คือ ขอบเขตของระยะ

เราเลือกใช้เกมส์ stop and go มาในกระบวนการเพื่อฝึกการรู้จักระยะที่เหมาะสมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราเปิดเพลงแล้วให้เขาเต้นหรือวิ่งเล่นไปเรื่อยๆ เมื่อเขาวิ่งปรี่เข้ามาใกล้ พอถึงระยะที่เราคิดว่าน่าจะสมควรเพียงพอที่จะหยุดเราก็พูดเสียงดังชัดเจนว่า 'หยุด'และปิดเพลง ทิ้งระยะสักครู่ แล้วเปิดเพลงต่อ เพื่อให้เขาเต้นอย่างอิสระต่อไป และเมื่อเขาจะเข้ามาใกล้อีกก็ทำเช่นเดิม และเนื่องจากเรามีกฎทางการบำบัดว่าเราจะไม่มีการออกจากห้องก่อนจบการบำบัด เมื่อเขาวิ่งเล่นแล้วทำท่าจะเปิดประตูหนีเราออกไปนอกห้องเราก็ใช้เสียงคำว่า 'หยุด' พร้อมกับการหยุดเพลงเพื่อเป็นการสื่อสารว่านั่นคือระยะที่พอแล้วที่จะอยู่ไกลกันที่สุดในห้องนี้ เขาจะไม่ทันได้คิดว่าเรากำลังปลูกฝังการอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสมในขอบเขตทางสังคมเนื่องจากว่าเขาได้เมามันส์กับกติกาที่เราตกลงร่วมกันไว้ แต่ไม่ต้องห่วงเลยว่าเขาจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะตราบใดที่ร่างกายของเขาทำซ้ำนั้น มันจะซึมอยู่อย่างนั้นนานเท่านาน ยิ่งเวลาที่เขารู้สึกปลอดภัยอยู่ในพื้นที่ที่ไว้ใจแล้วด้วยละก็ เขาจะเรียนรู้จดจำมันได้อย่างยาวนานและลึกซึม

เกมส์นี้สามารถใช้ได้ดีเช่นกันกับเด็กหลายคนที่ไม่สามารถที่จะรับมือกับภาวะอารมณ์ที่พลุ่งพล่านอยู่ภายใน เราใช้เกมส์นี้กับคนไข้เด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ในโรงเรียนประถมและก็ได้ผลดีในเรื่องของการอดทนอดกลั้น ไม่วิ่งสะวี้ดสะว้าด พลุ่งพล่านเวลาตื่นเต้นหรือกังวล

มีข้อพึงระวังเวลาใช้กับเด็กที่มีอาการออทิสติกก็คือ การพูดอะไรก็ตามต้อง ดัง ชัด ตรง สั้น และลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น บางครั้งคนภายนอกฟังอาจจะรู้สึกว่าไม่มีมารยาทที่พูดจาห้วน แต่นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามเราต้องพูดดัง ตรง สั้น กระชับ แต่ว่าโอบอ้อม ไม่ก้าวร้าวแข็งกร้าว และนั่นคือสิ่งที่ยากแต่สำคัญในการสื่อสาร

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ระยะในความสัมพันธ์ นั่นคือเรื่องของอุปกรณ์ประกอบหรือ props จะเขียนเพิ่มเติมวันหน้าค่ะ

5.21.2010

คนไข้ออทิสติกกับ Dance Movement Psychotherapy: ทัศนคติ


มีโอกาสได้ฝึกงานที่โรงเรียนมัธยมต้นสำหรับเด็กที่มีอาการออทิสติกและแอสเปอเกอร์ตอนช่วงฝึกหัดเป็นนักจิตบำบัดปีที่หนึ่ง ทำทั้งแบบกลุ่ม และ แบบเดี่ยว

ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการออทิสติกนั้นคือ มีความบกพร่องทางการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ เชิงรู้คิด และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่การทำจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มพูนทักษะให้ได้ แต่ว่า เป้าหมายของการบำบัดตลอดทั้งปีกลับไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เลยสักนิด

เนื่องจากคนเราทุกคนมักติดบ่วงแหความคาดหวังของสังคม พ่อแม่คาดหวังให้เราเป็นลูกที่น่ารัก นิสัยดี เพรียบพร้อม ครูอาจารย์คาดหวังให้เราเป็นนักเรียนที่นอบน้อม เชื่อฟัง เพื่อนหวังให้เราเข้าใจและสานสัมพันธ์ชิดใกล้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถพังทลายลงมาทับตัวทับหัวเราอย่างจังโครมเมื่อเรามีความบกพร่องในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการสื่อสารอย่างเช่นผู้ที่มีอาการออทิสติก และนั่นส่งผลให้เราต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเศร้าหมอง ความสงสาร ความกดดัน ความโกรธ ความเสียใจของคนรอบข้าง ลองคิดดู แค่คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตตามปกติได้ต้องมาอยู่ภายใต้ภาวะหนักๆนี้ก็คงแทบจะเดินหน้าไปทางไหนไม่ได้แล้ว และนี่คือเด็กผู้ที่แบกความบกพร่องบางอย่างภายใต้ภาวะหนักค้ำของสังคม นั่นคงลดทอนศักยภาพในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตประจำวันไปมากเลยทีเดียว

นั่นคือเป้าหมายแรกๆของงานบำบัดของนักจิตบำบัดฝึกหัด 'supportและช่วยให้จิตใจของเด็กๆแข็งแรงและมีกำลังที่จะเรียนรู้ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่หนักหนาในสังคม อะไรที่คั่งค้าง หน่วงเหนี่ยว รั้งทึ้ง บดขยี้ ซ้ำเติมภาวะจิตใจของคนไข้ เราจะช่วยค้นหาผ่อนคลายและให้ความหมายแก่ตัวตนที่แท้จริง'

เราไม่จำเป็นต้องให้เขาหายจากอาการออทิสติก แต่เราช่วยให้เขาค้นพบวิธีใช้ชีวิตกับออทิสติกได้อย่างมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ความต้องการให้อาการออทิสติกหายไปจากคนไข้มักเป็นความต้องการของผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เพื่อน แพทย์ นักบำบัด นักจิตวิยา ญาติ และอีกหลายคนที่หวังดี แต่สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ที่มีอาการออทิสติกต้องการในชีวิต

เพราะฉะนั้นเป้าหมายสามัญเริ่มต้นของนักจิตบำบัดฝึกหัดคนนี้ที่ได้รับการมอบหมายก็คือ ให้เวลากับผู้เข้าบำบัด ให้เวลาที่มีความหมายที่เต็มไปด้วยความห่วงใย ความเข้าใจ ความสำคัญ โดยปราศจากความคาดเค้น คาดหวัง และอยู่เคียงข้าง เฝ้ามองด้วยตารับรู้ด้วยใจ ไม่ผลีผลามว่าอยากจะพิสูจน์ตนเองว่าเรา 'ทำได้' โดยผลักดันให้ผู้เข้าบำบัดทำในสิ่งที่เขายังไม่เคยทำหรือยังไม่เคยทำได้ เพียงเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายทางการศึกษาของตนเอง

นี่คือสิ่งยาก เพราะนี่คือการทำงานแบบที่เราต้องให้ผู้เข้ารับการบำบัดเป็นศูนย์กลางและตัวตั้ง ลดละความต้องการที่เป็นส่วนตัว เช่น อยากให้ผู้อื่นได้ดี อยากให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ ฯลฯ เพราะถ้าเราคิดแบบนั้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จแล้วเรายังไง ถ้าเขาไม่ได้ดีแล้วเราจะปฏิบัติต่างจากที่เขาเป็นอยู่แล้วหรือไม่ เมื่อนั้น..เราจะยังอยู่เคียงข้างเขาไหม

'ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เพราะเราสนับสนุนให้เขายอมรับในสิ่งที่เขาเป็น' แค่ปรับทัศนคติให้ได้ตามหลักนี้ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว ใช่... หลักการของมันเลคเชอร์แค่ครึ่งชั่วโมง แต่พอนำไปใช้จริง กว่าจะปรับความคิดและปรับใจให้คล้อยตามก็ปาไปกว่าห้าหกเดือน

ระหว่างกระบวนการนี้ ต้องยอมรับเลยว่าแอบปรารถนาให้พ่อแม่และครูอาจารย์ปฏิบัติเช่นนี้กับทุกผู้ทุกนาม เราทุกคนจะได้ไม่เหนื่อยกับความกดดันทางสังคมที่คนอื่นมาขีดเป้าหมายให้เราไปถึง และพวกพ่อแม่ครูอาจารย์จะได้ไม่เปลืองพลังงานชีวิตในการขืนยื้อผลักดันให้คนบางคนเปนในสิ่งที่เขาไม่จำเป็นต้องเป็น

นี่คือทัศนคติเบื้องต้นที่ต้องเริ่มก่อนกระบวนการใดๆ

5.17.2010

Assumption:Dance Movement Psychotherapy vs Thai Society


การทำจิตบำบัดมักจะหลีกเลี่ยงยากที่จะเผชิญหน้า ค้นหา จัดการ ทำงานและพูดถึงภาวะอารมณ์ทั้งในด้านที่พึงปรารถนา เช่น ความประทับใจ ความรัก ความชอบ ความหลงใหล ความสุข และอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความโลภ ความร้อนรุ่ม ความกลัว ฯลฯ บนพื้นที่การทำจิตบำบัดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ตัดสินความดีเลวหรือผิดชอบชั่วดีนั้นทุกรูปแบบของอารมณ์เป็นสิ่งที่มีความหมายสำคัญควรค่าแก่การนำมาตรึกตรองร่วมกันระหว่างนักจิตบำบัดและผู้เข้ารับการบำบัดด้วยกันทั้งสิ้น และบ่อยครั้งสิ่งที่เรารู้สึกกลัวหรือไม่กล้าที่จะพูดถึงเป็นกุญแจที่ไขไปสู่คำตอบของอีกหลายๆคำถาม

บางครั้งในบริบทของสังคมไทย การไม่โกรธ การวางเฉย การกำจัดภาวะ"ไม่รู้" คือสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังว่า "ดี" วิธีการปลูกฝังทางมโนธรรมและศีลธรรมที่แนบมากับวัฒนธรรมอันสวยงามคือทางแยกระหว่างสิ่งที่'ดี'และสิ่งที่'ไม่ดี' และเรามักพึงจะยึดมั่นกับสิ่งดีและตัดส่วนไม่ดีทิ้งเสีย บางครั้งสิ่งเหล่านี้นำพาไปสู่การป้องกันตนเองด้วยการ "ปฏิเสธ"อารมณ์ที่ไม่ดีที่กำลังเกิดขึ้นจริงภายในใจ และเมื่อเวลาผ่านเลยไปอารมณ์เหล่านั้นที่ไม่ได้รับการยอมรับและจัดการก็พลุ่งพล่านออกมาเมื่อจิตใจของคนเรานั้นอ่อนล้าจากการกดปิดและปฏิเสธภาวะเหล่านั้น พฤติกรรมที่เห็นได้ทั่วไป เช่น พฤติกรรมที่ก่อความรุนแรง พูดจาหยาคาย ฉุนเฉียว เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เราคิดว่า'ดี'หรือ'ไม่ดี' ความจริงแล้วก็เป็นอารมณ์ของเราทั้งสิ้น ถ้ามีส่วนดีเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นความรับผิดชอบที่ต้องรับรู้และจัดการ เช่นเดียวกันหากส่วนทีไม่ดีมันเกิดขึ้นเราก็จำเป็นต้องรับรู้ถึงมันและจัดการมันเช่นกัน ทำไมมันถึงเกิดความรู้สึกดี ทำไมเราถึงมีความรู้สึกโกรธ ทำไมเราถึงกลัวสิ่งต่างๆ ทั้งหมดคือสิ่งที่เราควรรู้เท่าทัน

นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับวิชาชีพที่เกี่ยวกับการเยียวยาทางจิตใจในเชิงระยะยาวที่มักจัดการกับทุกปัญหาอารมณ์อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อบริบทสังคมสอนให้เราแลกเปลี่ยนและนำเสนอเฉพาะสิ่งที่ดี ส่วนสิ่งที่ไม่ดีกำจัด ปกปิดให้หมดไป นั่นทำให้ในกระบวนการทำงานไม่สามารถจัดการกับสาเหตุปัญหาของจริงจนสามารถเลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมเพื่อหาความสมดุลย์ใหม่ได้

นี่คือสมมติฐานเบื้องต้นส่วนตัวซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงจาการถูกปลูกฝังเลี้ยงดูในบริบทไทยและไปศึกษาร่ำเรียนศาสตร์การทำจิตบำบัดแบบทางตะวันตก ปัญหาตามสมมติฐานยังเกิดกับตัวเองในขณะที่เป็นคนไข้เข้ารับการบำบัดจิตใจควบคู่ไปกับการฝึกหัดอีกด้วย

การปฏิเสธความโกรธภายในใจของตนเองว่าไม่มีอยู่จริง การเลือกที่จะลืมความเกลียดที่ฝังอยู่ในใจ การเพิกเฉยต่อความกระอักกระอ่วนภายในล้วนลดทอนประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจตัวเองทั้งสิ้น และทั้งหมดนี้ทำให้กระบวนการค้นหาสมดุลย์ใหม่ให้ชีวิตเกิดความล่าช้าและบิดทอนออกไปอีก

5.16.2010

กิจกรรม Stress Release กับดุจดาว


ขอเชิญร่วมกิจกรรมการเข้ากลุ่มเพื่อคลายเครียดกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหากับภาวะเครียด นอนไม่หลับ มีภาวะทางอารมณ์ที่รุมเร้า วิตกกังวลกับบางอย่าง หรือแค่ต้องการหาที่ผ่อนคลายให้กับตัวคุณเอง

Short-term Dance Movement Psychotherapy อาจเป็นกิจกรรมที่หลายคนปรารถนา

ทุกวันจันทร์ เวลา19.00-20.00 น. ณ ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ
เริ่มวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.-19 ก.ค. 2010 (งดจันทร์ที่28 มิ.ย.) รวมทั้งหมดแปดครั้ง
ค่าใช่จ่ายเพียง 2,400 บาทต่อหนึ่งท่าน
จำกัดรับสมัครเพียง 10 ท่านเท่านั้น (ขอสงวนสิทธิ์ในการงดกิจกรรมหากมีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 5 ท่าน)

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอใบสมัครได้ที่ 089 167 4039 หรือ bfloortheatre@gmail.com

Benefits: ประโยชน์ของ Dance Movement Psychotherapy


Benefits of DMT

  • increasing self-awareness, self-esteem and personal autonomy.
  • เพิ่มระดับการมีสติรับรู้ตนเอง, ความเชื่อมั่นในตนเองและเอกราชในตนเอง
  • experiencing links between thought, feelings and actions.
  • มีประสบการณ์ในการเชื่อมโยงระหว่างความคิด ความรู้สึกและการกระทำ
  • increasing and rehearsing adaptive coping behaviours.
  • เพิ่มพูนและฝึกซ้อมรูปแบบพฤติกรรมการจัดการปัญหาที่ได้รับการประยุกต์ใหม่
  • expressing and managing overwhelming feelings or thoughts.
  • แสดงออกและจัดการความรู้สึกนึกคิดที่ท่วมท้นเอ่อล้น
  • maximising resources of communication.
  • เพิ่มขอบเขตสูงสุดของศักยภาพในการสื่อสาร
  • contacting inner resources through contained creative movement play.
  • สัมผัสเรื่องราวจากภายในผ่านรูปแบบการเล่นแบบสร้างสรรค์แต่รัดกุม
  • testing the impact of self on others.
  • ทดสอบตนเองจากการมีผลกระทบและพบปะผู้อื่น
  • testing inner with outer reality.
  • ทดสอบโลกภายในด้วยความเป็นจริงภายนอก
  • initiating physical, emotional and/or cognitive shifts.
  • เริ่มต้นการยกระดับทางกายภาพ อารมณ์ และการรู้คิด
  • developing a trusting relationship.
  • พัฒนาความไว้ใจในความสัมพันธ์
  • manage feelings that interrupt learning.
  • จัดการความรู้สึกที่ก่อกวนกระบวนการการเรียนรู้
  • enhancing social interaction skills.
  • เพิ่มพูนทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

Who?: ใครเหมาะกับ Dance Movement Psychotherapy(DMP)



Who is DMP for?

  • for anyone experiencing difficulties or concerns with emotional problems, conflict or distress.
  • สำหรับใครก็ตามที่กำลังประสบปัญหาและความยากลำบากที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความขัดแย้ง หรือความเครืยด
  • for people who want to enhance personal communication skills, self-exploration or self-understanding.
  • สำหรับใครก็ตามที่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางด้านทักษะการสื่อสาร การค้นหาตนเอง หรือทำความเข้าใจตนเอง
  • for people who may find some feelings or experiences too overwhelming or difficult to communicate by words alone, or for those who may avoid feelings or confuse issues in their use of words.
  • สำหรับใครก็ตามที่พบว่าตนนั้นกำลังมีความรู้สึกหรือมีประสบการณ์ที่ท่วมท้นหรือยากที่จะสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมาทางภาษาพูดเพียงอย่างเดียว หรือสำหรับผู้ที่มักหลีกเลี่ยงเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกหรือมักสับสนในประเด็นเวลาที่ใช้ภาษาพูด
  • for people whose problems are bound up in bodily form; in distortions or concern about body image, in actual movement difficulties such as tension or blocked areas of the body, impaired movements or in anxieties about proximity, physical contact or trust.
  • สำหรับใครก็ตามที่ปัญหาได้ก่อตัวอยู่ในรูปแบบทางร่างกาย เช่น การบิดเบือนทางด้านภาพลักษณ์ของตนเอง ปัญหาทางด้านร่างกายโดยตรงอย่างเช่น การเกร็ง การบล็อกตามที่ต่างๆของร่างกาย ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านการเคลื่อนไหว ผู้ที่มีความกังวลในเรื่องความใกล้ชิด การมีสัมผัสทางกายภาพกับผู้อื่นหรือแม้แต่การไว้ใจ
  • for people where impairment or trauma may hinder the capacity for them or others to acknowledge and understand personal areas of strength and weakness.
  • สำหรับใครก็ตามที่ความบกพร่องหรือเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตอาจบดบังศักยภาพในการรับรู้และเข้าใจจุดแข็งและจุดด้อยส่วนตัวของทั้งตนเองและผู้อื่น
  • for people during particular periods of distress such as those associated with loss, transition or change.
  • สำหรับใครก็ตามที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เครียด เช่น กำลังประสบกับความสูญเสีย การถ่ายเปลี่ยน และการเปลี่ยนแปลง
  • for people concerned that problems they feel have gone on for too long, or who have a general sense that "things are not right" for them, their relationships or their family.
  • สำหรับผู้ที่มีความรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาอะไรบางอย่างมาเป็นเวลานานเกินไปแล้ว หรือสำหรับผู้ที่มีความรู้สึกโดยทั่วไปว่า "มีหลายสิ่งที่ยังไม่ใช่"สำหรับเรื่องของตนเอง ความสัมพันธ์ับผู้อื่น หรือแม้แต่กับครอบครัว
  • for those for whom verbal communication is less available
  • สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้วัจนภาษาหรือภาษาพูดได้
http://www.admt.org.uk/whatis.html

What is Dance Movement Psychotherapy? จิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคืออะไร

'Dance Movement Psychotherapy (DMP) is the psychotherapeutic use of movement and dance through which a person can engage creatively in a process to further their emotional, cognitive, physical and social integration. It is founded on the principle that movement reflects an individual’s patterns of thinking and feeling. Through acknowledging and supporting clients’ movements the therapist encourages development and integration of new adaptive movement patterns together with the emotional experiences that accompany such changes. Dance Movement Psychotherapy is practised as both individual and group therapy in health, education and social service settings and in private practice.'

ADMP UK, 2010

การทำจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคือการใช้กระบวนการของการเต้นและการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ในการบำบัดจิตใจ ซึ่งในกระบวนการนั้นจะส่งเสริมให้บุคคลได้มีการเข้าร่วมอย่างสร้างสรรค์เพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มพูนบูรณาการทางอารมณ์ การรู้คิด กายภาพและสังคม

ศิลปะบำบัดแขนงนี้ก่อตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละปัจเจกชนได้ และนักจิตบำบัดสามารถส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการบำบัดมีความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการและเกิดการบูรณาการรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบใหม่ด้วยการเพิ่มการตระหนักรู้และเสริมสร้างกำลังใจพร้อมไปกับประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ผู้เข้ารับการบำบัดได้รับระหว่างกระบวนการ

การทำจิตบำบัดนี้สามารถทำได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม จัดตั้งได้ในองค์กรด้านสุขภาพ การศึกษา การบริการทางสังคม และองค์กรเอกชน