5.17.2010

Assumption:Dance Movement Psychotherapy vs Thai Society


การทำจิตบำบัดมักจะหลีกเลี่ยงยากที่จะเผชิญหน้า ค้นหา จัดการ ทำงานและพูดถึงภาวะอารมณ์ทั้งในด้านที่พึงปรารถนา เช่น ความประทับใจ ความรัก ความชอบ ความหลงใหล ความสุข และอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความโลภ ความร้อนรุ่ม ความกลัว ฯลฯ บนพื้นที่การทำจิตบำบัดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ตัดสินความดีเลวหรือผิดชอบชั่วดีนั้นทุกรูปแบบของอารมณ์เป็นสิ่งที่มีความหมายสำคัญควรค่าแก่การนำมาตรึกตรองร่วมกันระหว่างนักจิตบำบัดและผู้เข้ารับการบำบัดด้วยกันทั้งสิ้น และบ่อยครั้งสิ่งที่เรารู้สึกกลัวหรือไม่กล้าที่จะพูดถึงเป็นกุญแจที่ไขไปสู่คำตอบของอีกหลายๆคำถาม

บางครั้งในบริบทของสังคมไทย การไม่โกรธ การวางเฉย การกำจัดภาวะ"ไม่รู้" คือสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังว่า "ดี" วิธีการปลูกฝังทางมโนธรรมและศีลธรรมที่แนบมากับวัฒนธรรมอันสวยงามคือทางแยกระหว่างสิ่งที่'ดี'และสิ่งที่'ไม่ดี' และเรามักพึงจะยึดมั่นกับสิ่งดีและตัดส่วนไม่ดีทิ้งเสีย บางครั้งสิ่งเหล่านี้นำพาไปสู่การป้องกันตนเองด้วยการ "ปฏิเสธ"อารมณ์ที่ไม่ดีที่กำลังเกิดขึ้นจริงภายในใจ และเมื่อเวลาผ่านเลยไปอารมณ์เหล่านั้นที่ไม่ได้รับการยอมรับและจัดการก็พลุ่งพล่านออกมาเมื่อจิตใจของคนเรานั้นอ่อนล้าจากการกดปิดและปฏิเสธภาวะเหล่านั้น พฤติกรรมที่เห็นได้ทั่วไป เช่น พฤติกรรมที่ก่อความรุนแรง พูดจาหยาคาย ฉุนเฉียว เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เราคิดว่า'ดี'หรือ'ไม่ดี' ความจริงแล้วก็เป็นอารมณ์ของเราทั้งสิ้น ถ้ามีส่วนดีเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นความรับผิดชอบที่ต้องรับรู้และจัดการ เช่นเดียวกันหากส่วนทีไม่ดีมันเกิดขึ้นเราก็จำเป็นต้องรับรู้ถึงมันและจัดการมันเช่นกัน ทำไมมันถึงเกิดความรู้สึกดี ทำไมเราถึงมีความรู้สึกโกรธ ทำไมเราถึงกลัวสิ่งต่างๆ ทั้งหมดคือสิ่งที่เราควรรู้เท่าทัน

นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับวิชาชีพที่เกี่ยวกับการเยียวยาทางจิตใจในเชิงระยะยาวที่มักจัดการกับทุกปัญหาอารมณ์อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อบริบทสังคมสอนให้เราแลกเปลี่ยนและนำเสนอเฉพาะสิ่งที่ดี ส่วนสิ่งที่ไม่ดีกำจัด ปกปิดให้หมดไป นั่นทำให้ในกระบวนการทำงานไม่สามารถจัดการกับสาเหตุปัญหาของจริงจนสามารถเลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมเพื่อหาความสมดุลย์ใหม่ได้

นี่คือสมมติฐานเบื้องต้นส่วนตัวซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงจาการถูกปลูกฝังเลี้ยงดูในบริบทไทยและไปศึกษาร่ำเรียนศาสตร์การทำจิตบำบัดแบบทางตะวันตก ปัญหาตามสมมติฐานยังเกิดกับตัวเองในขณะที่เป็นคนไข้เข้ารับการบำบัดจิตใจควบคู่ไปกับการฝึกหัดอีกด้วย

การปฏิเสธความโกรธภายในใจของตนเองว่าไม่มีอยู่จริง การเลือกที่จะลืมความเกลียดที่ฝังอยู่ในใจ การเพิกเฉยต่อความกระอักกระอ่วนภายในล้วนลดทอนประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจตัวเองทั้งสิ้น และทั้งหมดนี้ทำให้กระบวนการค้นหาสมดุลย์ใหม่ให้ชีวิตเกิดความล่าช้าและบิดทอนออกไปอีก

No comments:

Post a Comment