5.21.2010

คนไข้ออทิสติกกับ Dance Movement Psychotherapy: ทัศนคติ


มีโอกาสได้ฝึกงานที่โรงเรียนมัธยมต้นสำหรับเด็กที่มีอาการออทิสติกและแอสเปอเกอร์ตอนช่วงฝึกหัดเป็นนักจิตบำบัดปีที่หนึ่ง ทำทั้งแบบกลุ่ม และ แบบเดี่ยว

ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการออทิสติกนั้นคือ มีความบกพร่องทางการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ เชิงรู้คิด และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่การทำจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มพูนทักษะให้ได้ แต่ว่า เป้าหมายของการบำบัดตลอดทั้งปีกลับไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เลยสักนิด

เนื่องจากคนเราทุกคนมักติดบ่วงแหความคาดหวังของสังคม พ่อแม่คาดหวังให้เราเป็นลูกที่น่ารัก นิสัยดี เพรียบพร้อม ครูอาจารย์คาดหวังให้เราเป็นนักเรียนที่นอบน้อม เชื่อฟัง เพื่อนหวังให้เราเข้าใจและสานสัมพันธ์ชิดใกล้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถพังทลายลงมาทับตัวทับหัวเราอย่างจังโครมเมื่อเรามีความบกพร่องในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการสื่อสารอย่างเช่นผู้ที่มีอาการออทิสติก และนั่นส่งผลให้เราต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเศร้าหมอง ความสงสาร ความกดดัน ความโกรธ ความเสียใจของคนรอบข้าง ลองคิดดู แค่คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตตามปกติได้ต้องมาอยู่ภายใต้ภาวะหนักๆนี้ก็คงแทบจะเดินหน้าไปทางไหนไม่ได้แล้ว และนี่คือเด็กผู้ที่แบกความบกพร่องบางอย่างภายใต้ภาวะหนักค้ำของสังคม นั่นคงลดทอนศักยภาพในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตประจำวันไปมากเลยทีเดียว

นั่นคือเป้าหมายแรกๆของงานบำบัดของนักจิตบำบัดฝึกหัด 'supportและช่วยให้จิตใจของเด็กๆแข็งแรงและมีกำลังที่จะเรียนรู้ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่หนักหนาในสังคม อะไรที่คั่งค้าง หน่วงเหนี่ยว รั้งทึ้ง บดขยี้ ซ้ำเติมภาวะจิตใจของคนไข้ เราจะช่วยค้นหาผ่อนคลายและให้ความหมายแก่ตัวตนที่แท้จริง'

เราไม่จำเป็นต้องให้เขาหายจากอาการออทิสติก แต่เราช่วยให้เขาค้นพบวิธีใช้ชีวิตกับออทิสติกได้อย่างมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ความต้องการให้อาการออทิสติกหายไปจากคนไข้มักเป็นความต้องการของผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เพื่อน แพทย์ นักบำบัด นักจิตวิยา ญาติ และอีกหลายคนที่หวังดี แต่สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ที่มีอาการออทิสติกต้องการในชีวิต

เพราะฉะนั้นเป้าหมายสามัญเริ่มต้นของนักจิตบำบัดฝึกหัดคนนี้ที่ได้รับการมอบหมายก็คือ ให้เวลากับผู้เข้าบำบัด ให้เวลาที่มีความหมายที่เต็มไปด้วยความห่วงใย ความเข้าใจ ความสำคัญ โดยปราศจากความคาดเค้น คาดหวัง และอยู่เคียงข้าง เฝ้ามองด้วยตารับรู้ด้วยใจ ไม่ผลีผลามว่าอยากจะพิสูจน์ตนเองว่าเรา 'ทำได้' โดยผลักดันให้ผู้เข้าบำบัดทำในสิ่งที่เขายังไม่เคยทำหรือยังไม่เคยทำได้ เพียงเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายทางการศึกษาของตนเอง

นี่คือสิ่งยาก เพราะนี่คือการทำงานแบบที่เราต้องให้ผู้เข้ารับการบำบัดเป็นศูนย์กลางและตัวตั้ง ลดละความต้องการที่เป็นส่วนตัว เช่น อยากให้ผู้อื่นได้ดี อยากให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ ฯลฯ เพราะถ้าเราคิดแบบนั้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จแล้วเรายังไง ถ้าเขาไม่ได้ดีแล้วเราจะปฏิบัติต่างจากที่เขาเป็นอยู่แล้วหรือไม่ เมื่อนั้น..เราจะยังอยู่เคียงข้างเขาไหม

'ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เพราะเราสนับสนุนให้เขายอมรับในสิ่งที่เขาเป็น' แค่ปรับทัศนคติให้ได้ตามหลักนี้ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว ใช่... หลักการของมันเลคเชอร์แค่ครึ่งชั่วโมง แต่พอนำไปใช้จริง กว่าจะปรับความคิดและปรับใจให้คล้อยตามก็ปาไปกว่าห้าหกเดือน

ระหว่างกระบวนการนี้ ต้องยอมรับเลยว่าแอบปรารถนาให้พ่อแม่และครูอาจารย์ปฏิบัติเช่นนี้กับทุกผู้ทุกนาม เราทุกคนจะได้ไม่เหนื่อยกับความกดดันทางสังคมที่คนอื่นมาขีดเป้าหมายให้เราไปถึง และพวกพ่อแม่ครูอาจารย์จะได้ไม่เปลืองพลังงานชีวิตในการขืนยื้อผลักดันให้คนบางคนเปนในสิ่งที่เขาไม่จำเป็นต้องเป็น

นี่คือทัศนคติเบื้องต้นที่ต้องเริ่มก่อนกระบวนการใดๆ

No comments:

Post a Comment